FreeRunning กีฬาท้าทายข้อจำกัดในการวิ่ง

FreeRunning กีฬาท้าทายข้อจำกัดในการวิ่ง

ถือเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมอีกประเภทหนึ่งที่ทางฝั่งยุโรปให้ความนิยมในการเล่นกันค่อนข้างมากกับกีฬา FreeRunning เป็นรูปแบบการวิ่งหนึ่งที่ต้องการเอาชนะเส้นทางในการวิ่งทุกรูปแบบโดยใช้ทักษะและสมรรถนะทางร่างกายที่สูงกว่าการวิ่งแบบอื่น การวิ่งแบบนี้จะเน้นที่การข้ามสิ่งกีดขวาง ข้ามสิ่งปลูกสร้าง การปีน กระโดด ซึ่งใช้พละกำลังสูงมาก สำหรับผู้เล่นมืออาชีพอาจต้องมีการผสมผสานทักษะกีฬาชนิดอื่นเข้ามา เช่น ยิมนาสติก เป็นต้น

ฝึก FreeRunning อย่างไรให้ได้ผลเร็ว และไม่บาดเจ็บ

เพราะกีฬาชนิดนี้เป็นกีฬาที่ใช้สมรรถนะทางร่างกายสูงมาก นักกีฬาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการฝึก 3 ส่วนนี้อย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมขึ้นได้ง่าย

1.การวอร์มอัพร่างกาย โดยพื้นฐานทั่วไปจะเริ่มที่การวิ่งวอร์มเบา ๆ ถึงระดับกลางเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อทุกส่วนให้ตื่นตัว การวิ่งวอร์มนี้ใช้เวลาราว 5 นาที จากนั้นจึงเป็นการบริหารข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย 7 ส่วนประกอบด้วย คอ ไหล่ ศอก ข้อมือ เอว หัวเข่า และข้อเท้า จุดที่ต้องระวังที่สุดคือหัวเข่าที่ไม่ควรใช้การหมุนแต่ใช้การย่อและยืดแทน เพราะในระยะยาวการหมุนหัวเข่าอาจทำให้ข้อเข่าหลวมได้ การบริหารข้อต่อจะใช้เวลาประมาณส่วนละครึ่งนาที และสุดท้ายของการวอร์มอัพคือการยืดเส้นเอ็นต่าง ๆ แบบใช้เคลื่อนไหว (Dynamics stretching) เพื่อกระตุ้นให้เส้นเอ็นต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นสูงขึ้นพร้อมรับการฝึกที่หนักและรุนแรงได้มากขึ้น ใช้เวลาประมาณ 5 นาที รวมแล้วในขั้นตอนการวอร์มอัพจะใช้เวลาราว ๆ 13 นาทีครึ่งก่อนการฝึก

2.การฝึก ในส่วนนี้อาจกินเวลานานหลายชั่วโมง แต่พื้นฐานของการฝึกคือการฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกายตามลักษณะของการเคลื่อนที่ สิ่งกีดขวางแต่ละแบบมีการเคลื่อนที่ข้ามผ่านที่อาจมีรูปแบบการจัดร่างกายเฉพาะท่าที่แตกต่างกันไป การห้อยโหนสิ่งกีดขวางรูปแบบต่าง ๆ ที่มีวิธีการที่ต่างกัน การวิ่งขึ้นกำแพงก็มีเทคนิคการวิ่งเช่นกัน พื้นฐานส่วนมากอยู่ที่การฝึกความเคยชินในการจัดท่าทางของนักกีฬา FreeRunning เพื่อให้คุ้นเคยกับสิ่งกีดขวางทุกชนิด ก่อนปิดท้ายด้วยการฝึกวิ่งจริง โดยมีการกำหนดเส้นทางการวิ่งแตกต่างกันไปในแต่ละวัน

3.การคูลดาวน์ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอย่างมาก เพราะกล้ามเนื้อถูกใช้งานมาอย่างหนัก การคูลดาวน์จึงต้องทำอย่างจริงจังเช่นกันเพื่อคลายกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บภายหลังการฝึกซ้อม การคูลดาวน์จะใช้การยืดเส้นแบบหยุดนิ่ง (Static Stretching) คือยืดเส้นแล้วค้างไว้ราว 20 – 30 วินาที ในขั้นตอนสุดท้ายนี้จะใช้เวลาราว 10 -15 นาที

ใครบ้างที่สามารถเล่นกีฬา FreeRunning ได้

แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในกีฬาวิ่ง แต่ผู้ที่จะเล่นกีฬาประเภทนี้ได้จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านการวิ่งมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะการวิ่งเร็ว เพราะกล้ามเนื้อจะมีความพร้อมในการฝึกต่อยอดได้ดี รวมถึงสภาพร่างกายที่ควรผ่านการเข้าคอร์สฝึกกล้ามเนื้อมาบ้างแล้ว จึงจะทำให้การฝึกกีฬา FreeRunning นั้นเห็นผลความก้าวหน้าได้ชัดเจน และลดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อที่เกิดจากการฝึกซ้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย